วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การเคลื่อนที่เพื่อเล่นลูกบอล


                              2.1   ลักษณะการเคลื่อนที่
การเคลื่อนที่เพื่อเล่นลูกบอลเป็นความสามารถอย่างหนึ่งของผู้เล่นที่จะเคลื่อนที่ไป
รับลูกบอลหรือแม้กระทั่งในการตบลูกบอล  คนส่วนมากคิดว่าผู้เล่นที่วิ่งเร็วจะเคลื่อนที่ได้เร็ว แต่ความจริงแล้วการเล่นวอลเลย์บอลคนที่วิ่งเร็วอาจจะเคลื่อนที่ได้ช้าก็ได้  เพราะขณะที่เล่นบางครั้ง 
ลูกบอลพุ่งมาเร็วบางครั้งก็ช้า จุดที่ลูกบอลตกก็ไม่แน่นอน การเคลื่อนที่ไปรับลูกบอล บางครั้งก็วิ่งไปข้างหน้า บางครั้งก็ถอยหลัง บางครั้งก็ไปทางข้าง ๆ ตัว
ลักษณะการเคลื่อนที่เพื่อเล่นลูกบอล  มีดังนี้
การเคลื่อนที่ไปด้านหน้า  ประกอบด้วยการก้าวเท้า  การวิ่ง  การพุ่งตัว  การสไลด์ตัวไปกับพื้น
การเคลื่อนที่ไปด้านข้าง  ประกอบด้วยการก้าวเท้าไปด้านข้าง  การก้าวไขว้เท้า การสไลด์เท้า  การพุ่งตัวไปด้านข้างเข้าหาลูกบอลและการม้วนตัว
การเคลื่อนที่ไปด้านหลัง  ประกอบด้วยการก้าวถอยหลัง  การสไลด์เท้า  การหมุนตัว กลับแล้วพุ่งเข้าหาลูก
                  2.2    สิ่งสำคัญในการเคลื่อนที่   
สิ่งสำคัญที่มีผลต่อความเร็วในการเคลื่อนที่มีดังนี้
(1)  ความเร็วในการตัดสินใจ
(2)  ความสามารถในการถ่ายน้ำหนักตัว
(3)  ความถี่ของการก้าวเท้า
(4)  ความแข็งแรงของข้อเท้าและข้อเข่า
(5)  ความชำนาญในการฝึกซ้อม
                  2.2.1   ความเร็วในการตัดสินใจ
ความเร็วในการตัดสินใจเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในการเคลื่อนที่ เพราะเป็นความสามารถของโสตประสาท  ผู้เล่นบางคนสามารถเคลื่อนที่รับลูกตบจากฝ่ายตรงกันข้ามได้ทันที     บางคนลูกตกทางหนึ่งแต่กลับวิ่งไปอีกทางหนึ่ง จึงควรฝึกมาก ๆ และควรฝึกในตอนต้นชั่วโมงของการฝึก
                  2.2.2  ความสามารถในการถ่ายน้ำหนักตัว
การถ่ายน้ำหนักตัวได้เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับท่ายืนเตรียมพร้อมที่ดีด้วย การยืนขยับเท้าตลอดเวลาจะเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าการยืนด้วยเท้านิ่ง ๆ ก่อนที่จะถ่ายน้ำหนักตัวไปยังทิศทางใด
ทิศทางหนึ่งจะต้องยืนให้น้ำหนักตัวตกอยู่ตรงกลางระหว่างเท้าทั้งสองตลอดเวลา  ความเร็วของการเคลื่อนที่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการถ่ายน้ำหนักตัวซึ่งมี  2  ลักษณะคือ
(1)    การถ่ายน้ำหนักตัวไปในทิศทางตรงข้าม
การถ่ายน้ำหนักตัวไปในทิศทางตรงข้าม เริ่มต้นด้วยท่ายืนเตรียมพร้อม น้ำหนักตัว      อยู่กลางระหว่างเท้าทั้งสองตลอดเวลาถ้าจะเคลื่อนที่ไปทางซ้ายมือให้ถ่ายน้ำหนักตัวมาทางขวาก่อน  โดยให้น้ำหนักตัวทั้งหมดตกอยู่ที่เท้าขวา  จะได้มีแรงถีบตัวที่จะเคลื่อนที่ไปทางซ้าย แล้วจึงก้าวเท้าซ้ายนำออกไป
(2)   ไม่มีการถ่ายน้ำหนักตัวไปด้านใดด้านหนึ่ง
การเคลื่อนที่โดยไม่มีการถ่ายน้ำหนักตัวไปด้านใดด้านหนึ่งเป็นลักษณะการเคลื่อนที่อีกแบบหนึ่ง  ถ้าจะเคลื่อนที่ไปทางไหนก็ให้ถ่ายน้ำหนักตัวไปยังเท้านั้นแล้วก้าวอีกเท้าหนึ่งไป เช่น        จะเคลื่อนที่ไปทางซ้ายมือ ก็ให้ถ่ายน้ำหนักตัวไปยังเท้าซ้ายทั้งหมด แล้วก้าวเท้าขวานำออกไป
                  2.2.3   ความถี่ของการก้าวเท้า
การก้าวเท้าที่มีความถี่สูงย่อมเคลื่อนที่ได้เร็ว  จึงจำเป็นต้องฝึกมาก ๆ เช่น  การวิ่งสลับเท้าเร็ว ๆ อยู่กับที่  หรือการวิ่ง  การสไลด์เท้า  การไขว้เท้าระยะทางใกล้ ๆ แต่ต้องเคลื่อนที่เร็ว ๆ  ซึ่งก้าวแรกของเท้าต้องก้าวสั้น ๆ เพราะถ้าก้าวแรกยาวจะให้น้ำหนักตัวมาข้างหลังจึงเคลื่อนที่ได้ช้า  แต่ถ้าก้าวแรกสั้นการถ่ายน้ำหนักตัวจะไปข้างหน้า จึงทำให้การเคลื่อนที่ได้เร็วกว่า
                  2.2.4   ความแข็งแรงของข้อเท้าและข้อเข่า
ความแข็งแรงของข้อเท้าและข้อเข่าขึ้นอยู่กับแรงถีบ  ถ้าขาหลังมีแรงถีบมากจะเคลื่อนที่ได้เร็ว  จึงควรฝึกโดยการวิ่งยกเข่าสูงและก้าวยาว ๆ
2.2.5  ความชำนาญในการฝึกซ้อม
การฝึกซ้อมมาก ๆ ในการก้าวเท้าจนเกิดความชำนาญทำให้เคลื่อนที่ได้เร็ว การฝึกก้าวเท้าต้องฝึกหลาย ๆ แบบ เช่น  การวิ่ง  การไขว้เท้า  การสไลด์  การวิ่งโหย่ง ๆ และการก้าวยาว ๆ ถีบตัวให้ไปไกล ๆ เป็นต้น





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น